ที่ห้อยไห / ที่แขวนไห


ที่ห้อยไหชิ้นนี้ มีลักษณะเป็นโครงไม้สานคล้ายห่วงไว้แขวนหรือห้อยกับคานไม้ ขดไม้เป็นวงกลมสำหรับเป็นฐานไว้ห้อยไหหรือหม้อ เดิมเป็นสมบัติของนางอุสา บัวมะลิ ปัจจุบันได้มอบให้นางพรรษา บัวมะลิเพื่อนำเข้าศูนย์การเรียนรู้ฯ


ขวดเบียร์สิงห์


เบียร์สิงห์มีลักษณะเป็นทรงกลมมีฝาเป็นอลูมิเนียม เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีขนาดสูง 29 เซนติเมตร กว้าง 7 เซนติเมตร อายุประมาณ 80 ปี มีสภาพชำรุด เนื่องจากฉลากฉีกขาด เป็นของสะสมของ นางสุคำ ยานะ ซึ่งเป็นป้าของ นางพรรษา บัวมะลิ ปัจจุบันของชิ้นนี้จัดแสดงอยู่ ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย ไตลื้อบ้านใบบุญ


ปิ่นโต


ปิ่นโตเถานี้เดิมเป็นของนางจันติ๊บ บัวมะลิ ซึ่งได้มอบให้กับศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไตลื้อ บ้านใบบุญ ปิ่นโตเป็นภาชนะชนิดหนึ่งสำหรับบรรจุอาหาร ประกอบด้วยภาชนะรูปทรงกระบอกซ้อนกันเป็นชั้นๆ มีโครงเป็นโลหะ เรียกว่า “ขาปิ่นโตร้อยตรง” ส่วนหูของปิ่นโตทั้งสองข้างสามารถหิ้วได้ ในอดีตนิยมใส่อาหารลงในปิ่นโตเพื่อนำไปรับประทานตอนกลางวันสำหรับผู้ที่ออกไปทำงานนอกบ้าน นอกจากนี้ ชาวบ้านยังนิยมนำอาหารใส่ปิ่นโตเพื่อไปทำบุญ ถวายให้กับพระภิกษุสงฆ์ในตอนเช้า หรือนำอาหารใส่ปิ่นโตเพื่อนำไปฝากญาติพี่น้อง เพราะปิ่นโตสามารถบรรจุอาหารได้หลากหลายประเภทตามจำนวนชั้นของปิ่นโต และไม่ทำให้อาหารเลอะเทอะ นอกจากนี้ยังสะดวกต่อการเดินทาง


ตะเกียง / ตะเกง / โกม (ภาษาไตลื้อ)


ตะเกียง ในภาษาไตลื้อเรียกว่า ตะเกง หรือโกม เป็นตะเกียงน้ำมันโบราณซึ่งเป็นของสะสมที่สืบทอดมาช้านาน อายุประมาณ 100 ปี พ่อน้อยเมืองแก้ว บัวมะลิ มอบให้กับพิพิธภัณฑ์ ในอดีตเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีความจำเป็นในการให้แสงสว่างในเวลากลางคืน โดยนิยมใช้น้ำมันก๊าดเป็นเชื้อเพลิง หรือบางครั้งอาจใช้น้ำมันพืชเพราะไม่มีกลิ่น ไม่มีเขม่าควัน และในภายหลังสามารถหาน้ำมันพืชได้ง่ายกว่าน้ำมันก๊าด รูปแบบของตะเกียงน้ำมันนั้น ตัวตะเกียงทำจากเหล็กและอะลูมิเนียม ไม่มีสีสัน มีลักษณะเป็นทรงกระบอกสูง มีหูสำหรับแขวนหรือจับ วิธีการใช้งาน เริ่มต้นด้วยการเติมน้ำมันลงในตะเกียง เปิดตัวเปิดน้ำมัน และจุดไฟที่ไส้ตะเกียง


เครื่องพิมพ์ดีด


เครื่องพิมพ์ดีด เครื่องนี้มีอายุมากกว่า 30 ปี รุ่น Traveller de Luxe ซึ่งเจ้าของคือ นางพรรษา บัวมะลิ มีลักษณะการใช้งาน คือ ใช้สำหรับพิมพ์เอกสาร ตัวเครื่องทำมาจากเหล็กและพลาสติกมีกล่องสำหรับเก็บหมึกพิมพ์ดีด เครื่องพิมพ์ดีดเครื่องนี้มีขนาดความสูง 31 เซนติเมตร ความกว้าง 31 เซนติเมตร ปัจจุบันมีสภาพชำรุด เนื่องจากมีอายุเก่าแก่กว่า 30 ปี เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ปัจจุบันได้จัดแสดงอยู่ในหลองข้าวอุ๊ยติ๊บ ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไตลื้อ บ้านใบบุญ


หม้อน้ำเงิน / หม้อเขียว (ภาษาไตลื้อ)


หม้อน้ำเงินหรือหม้อเขียวในภาษาไตลื้อชิ้นนี้ เป็นสมบัติของนางจันติ๊บ บัวมะลิ ซึ่งได้มอบให้กับศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไตลื้อ บ้านใบบุญ ซึ่งในอดีตชาวไทลื้อนิยมใช้สำหรับบรรจุอาหารเมื่อทำอาหารจำนวนมากเพื่อนำไปทำบุญที่วัดในตอนเช้า เพื่อใส่อาหารไปแจกญาติพี่น้อง หรือเพื่อบรรจุอาหารรับประทานในเวลากลางวันในที่ทำงานเพราะสามารถรับประทานได้หลายคน หม้อใบนี้ มีลักษณะเป็นหม้อเหล็กเคลือบสีน้ำเงินภายนอก ส่วนภายในเคลือบสีขาว ขนาดสูง 18 เซนติเมตร กว้าง 23 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 11.5 เซนติเมตร สภาพหม้อชำรุด ไม่มีหูหิ้ว อายุการสะสมราว 100 ปี


วิทยุ


วิทยุชิ้นนี้ มีลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยมสีน้ำเงินคราม มีปุ่มกดบนตัวเครื่องเพื่อใช้ในการบังคับตัวรับสัญญาณวิทยุ ผลิตจากพลาสติกและอลูมิเนียม ปัจจุบันวิทยุมีสภาพชำรุด เนื่องจากวัสดุซึ่งเป็นพลาสติกไม่คงทนต่อแรงกระแทก ทำให้ตัวเครื่องวิทยุแตก ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ วิทยุเครื่องนี้มีความสูง 17 เซนติเมตร กว้าง 6.5 เซนติเมตร ทางศูนย์การเรียนรู้ฯ ได้รับการบริจาคมาจากนายณรงค์ ณ เชียงใหม่ ซึ่งเก็บสะสมมาแล้วกว่า 70 ปี ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ภายในหลองข้าวอุ้ยติ๊บ สำหรับพัฒนาการของวิทยุนั้นเป็นหนึ่งในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยให้ผู้คนสามารถรับรู้ข่าวสารบ้านเมืองที่ทันต่อเหตุการณ์ในวงกว้าง นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ด้านความบันเทิง สามารถใช้ฟังเพลงได้ โดยเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแทบจะทุกกลุ่มรวมถึงผู้ที่ไม่สามารถอ่านหนังสือได้ แต่วิทยุมีข้อเสีย คือ มีอายุการใช้งานสั้น และปัจจุบันมีผู้ใช้งานจำนวนน้อยลง เนื่องจากมีทางเลือกในการบริโภคข่าวสารที่มากยิ่งขึ้น


กระดิ่งวัว


กระดิ่งสำหรับคล้องคอวัว เป็นเครื่องมือสำหรับใช้บอกตำแหน่งของสัตว์เลี้ยงเมื่ออยู่ตามไร่ตามสวน มีลักษณะเป็นวงรีคล้ายระฆังข้างในกลวง มีกระดิ่งเหล็กคล้องอยู่ตรงกลาง นิยมใช้คล้องคอวัว เมื่อวัวเดินไปไหนมาไหนก็จะทำให้เกิดเสียง กระดิ่งวัวชิ้นนี้ เดิมเป็นสมบัติของนายพรมมา บัวชุ่มใจ ชาวไทลื้อ มีขนาดสูง 6.9 เซนติเมตร กว้าง 4.8 เซนติเมตร สภาพชำรุด เนื่องจากมีรอยบุบและเกิดสนิม มีอายุราว 80 ปี ปัจจุบันได้มอบให้ศูนย์การเรียนรู้ฯ เป็นผู้ดูแลและเก็บรักษา


นาฬิกาโบราณ


นาฬิกาโบราณเรือนนี้ เดิมเป็นสมบัติของพ่อน้อยเมืองแก้ว บัวมะลิ ปัจจุบันมอบให้กับศูนย์การเรียนรู้ฯ นาฬิกาเรือนนี้มีลักษณะเป็นกรอบสี่เหลี่ยมทรงสูง มีหน้าปัดนาฬิกาอยู่ตรงกลางและมีลูกตุ้มบอกเวลาทำจากแสตนเลส ในอดีตก่อนจะมีนาฬิกาใช้ ผู้คนใช้นาฬิกาแดดโดยใช้แสงอาทิตย์หรือระฆังเพื่อตีเป็นสัญญาณบอกเวลา


ส้อมแทงปลา / ส้อมเหยี่ยน


“ส้อมแทงปลา” หรือ “ส้อมเหยี่ยน” ในภาษาไตลื้อ เป็นอุปกรณ์ช่วยในการจับปลาตามแม่น้ำหรือทุ่งนา โดยลักษณะทั่วไปของ “ปลา” จะว่ายไปมาอย่างอิสระในน้ำ และจับตัวได้ ส้อมเหยี่ยนจึงเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่แสดงถึงภูมิปัญญาชาวบ้านในการคิดค้นเครื่องมือช่วยดักจับปลา โดยออกแบบแท่งเหล็กให้มีลักษณะยาวเรียว ส้อมเหยี่ยมชิ้นนี้มีขนาดสูง 87.6 เซนติเมตร เจ้าของเดิมคือนายพรมมา บุญชุ่มใจ เก็บสะสมมาแล้วกว่า 80 ปี


หมอนผาสามเหลี่ยม / หมอนอิง


หมอนผา เดิมเป็นของนางพรรษา บัวมะลิ ปัจจุบันได้มอบให้กับศูนย์การเรียนรู้ฯ หมอนผาชิ้นนี้มีอายุการสะสมประมาณ 4 ปี ในอดีตหมอนผาจะใช้ในงานมงคลพิธีกรรมทางศาสนา เช่น งานบวช เป็นต้น หมอนผามีลักษณะเป็นทรงสามเหลี่ยม ลวดลายบนหมอนจะมีเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น ส่วนลวดลายบนหมอนผาใบนี้เป็นลวดลายภูมิปัญญาของชาวไทลื้อ หมอนผาใบนี้มีขนาด 47 เซนติเมตร ความยาว 26 เซนติเมตร อยู่ในสภาพสมบูรณ์


คราดนา / เฝ่อ (ภาษาไตลื้อ)


คราดนา หรือ เฝ่อ ในภาษาไทลื้อ เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตร มีลักษณะเป็นคาน มีคันชักที่เป็นซี่ห่างๆ สำหรับกวาดหญ้า และไถดินให้ร่วนซุย เฝ่อชิ่นนี้ทำมาจากไม้เนื้อแข็ง มีอายุประมาณ 80 ปี มีขนาดความสูง 90 เซนติเมตร ความยาว 100 เซนติเมตร เดิมเป็นสมบัติของนายพรหมา บุญชุ่มใจ


ไม้หาบ


ไม้หาบชิ้นนี้ ใช้สำหรับช่วยหาบของหรือหาบน้ำ ทำด้วยไม้ไผ่ แม่ค้านิยมนำไม้หาบใช้หาบของขึ้นบ่าเพื่อขายของ หรือใช้สำหรับทุ่นแรงในการขนย้ายสิ่งของได้อย่างสะดวกขึ้น หลักการใช้งาน จะต้องวางวัตถุลงบนปลายไม้หาบ ขณะเดินต้องพยุงไม้หาบ โดยต้องออกแรงพยายามบังคับปลายคานข้างหนึ่ง ปลายอีกข้างหนึ่งก็จะเคลื่อนที่ ไม้หาบนี้มีขนาดความยาว 177 เซนติเมตร ความกว้าง 5 เซนติเมตร นายอนันท์ บัวมะลิ ได้มอบให้ศูนย์การเรียนรู้ฯ


ปืน


ปืนชิ้นนี้ มีขนาดความยาว 142 เซนติเมตร ทำขึ้นจากเหล็กและไม้ มีอายุประมาณ 70 ปี ปัจจุบันมีสภาพชำรุด โดยมีสนิมขึ้นบริเวณกระบอกปืน เจ้าของเดิม คือ นายพรมมา บุญชุ่มใจ เป็นผู้มอบให้ศูนย์การเรียนรู้ฯ เป็นผู้ดูแลและจัดแสดง ในอดีตใช้ปืนเป็นอาวุธที่ใช้ในการเข้าป่าล่าสัตว์เพื่อนำเนื้อสัตว์มารับประทานในครัวเรือน นอกจากนี้ยังใช้เป็นอาวุธในการป้องกันตัวจากโจรป่าที่จะปล้นเอาวัวควายที่อยู่ในคอกอีกด้วย


โทรศัพท์


โทรศัพท์เครื่องนี้เดิมเป็นของนายณรงค์ ณ เชียงใหม่ มีอายุประมาณ 80 ปีขึ้นไป มีลักษณะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูสีดำ มีสายสำหรับใช้เป็นสายรับเชื่อมสัญญาณในการติดต่อสื่อสาร ตัวเครื่องโทรศัพท์ทำด้วยพลาสติกและเหล็ก ขนาดของโทรศัพท์ มีความสูง 13 เซนติเมตร กว้าง 17 เซนติเมตร มีสภาพชำรุดเนื่องจากอุปกรณ์ในตัวเครื่องส่วนอื่นหลุดแยกออกจากกัน และสายที่ต่อจากตัวเครื่องขาดหลุด ไม่สามารถใช้งานได้


จักรเย็บผ้า / จักรยิบผ้า (ภาษาไตลื้อ)


จักรเย็บผ้า หรือจักรยิบผ้าเครื่องนี้ทำจากไม้และเหล็ก มีอายุกว่า 150 ปี เดิมเป็นของสะสมของนางสุคำ ยานะ ซึ่งได้มอบไว้ให้ศูนย์การเรียนรู้เพื่ออนุรักษ์และเก็บรักษา จักรเย็บผ้าใช้สำหรับเย็บผ้า ตัดชุด และแก้ไขส่วนต่างๆ ในอดีตเป็นของใช้ประจำในครัวเรือนของผู้หญิง สำหรับจักรเย็บผ้าเครื่องนี้มีขนาดความยาว 117 เซนติเมตร สูง 99 เซนติเมตร อยู่ในสภาพชำรุดเนื่องจากไม้ของจักรเย็บผ้ายกขึ้น และเหล็กเกิดสนิม ไม่สามารถใช้งานได้


ไหใส่เกลือเม็ด


ฐานและปากเล็กเท่าๆกัน มีตัวกลมใหญ่กว่าปากและฐาน เป็นสีย้ำตาลเข้มออกสีดำ